เป็นกลางได้ไหม บนรถไฟที่กำลังตกเหว

เป็นกลางได้ไหม บนรถไฟที่กำลังตกเหว
Photo by Balazs Busznyak / Unsplash

อยากให้คุณลองสมมุติว่าตัวคุณนั้นกำลังอยู่บนรถไฟ ที่อยู่ระหว่างทางแล่นผ่านหุบเหวลึก และบังเอิญรางที่พาดผ่านเหวดันขาดพอดี

มีทางเลือกหลายทางสำหรับคุณผู้อยู่บนรถไฟ เช่น เร่งความเร็วเพื่อให้รถไฟวิ่งไวขึ้น – หวังว่ามันจะเร็วพอที่จะพารถไฟกระโจนข้ามทางขาดไปได้นะ, เหยียบเบรกเพื่อเพิ่มความหน่วง – หวังว่ามันจะหน่วงพอจนทำให้รถไฟหยุดก่อนจะถึงปากเหวนะ, และหรือแม้แต่งัดประตูเพื่อกระโดดออกจากรถไฟ – ผมก็หวังเช่นเคยว่าคุณจะมีชีวิตรอดอีกเช่นเดียวกัน คุณจะเลือกอะไร?

ผมตอบไม่ได้เหมือนกันว่าวิธีไหนทำให้คุณรอด แต่ที่ผมมั่นใจคือ ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน หรือแม้แต่ยืนนิ่งๆ ไม่เลือกมันเลยซักอย่าง อธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง มันก็ล้วนส่งผลต่อชีวิตคุณทั้งสิ้น ไม่มีการตัดสินใจแบบไหนที่เรียกเป็นกลาง

สังคมเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแหละครับ บรรทัดฐาน ค่านิยม ความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ และความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้ถูกยกระดับขึ้น (หรือในบางครั้งจะถอยหลัง) ตลอดเวลาสิ่งที่พวกเราเชื่อว่ามันถูกต้องแล้ว มันดีที่สุดแล้ว ในที่สุดมันจะถูกปรับปรุง ทำลายและสร้างขึ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งหลายประเทศเคยคิดคนบางเพศ และบางเชื้อชาติไม่ควรมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เพราะฐานความคิดที่ว่าคนเหล่านี้ไม่มีความเป็นมนุษย์ที่มากเพียงพอ

หรือครั้งหนึ่งการเป็นเกย์ กะเทยเคยถูกวงการแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต ต้องรักษาด้วยการแช่น้ำแข็ง ช็อตไฟฟ้า แล้วหันมาดูตอนนี้สิ คู่รักเกย์สามารถแต่งงานได้ถูกกฎหมายแล้วในหลายๆ ประเทศ หรือในปัจจุบันการห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุเพราะความคิดที่ว่าประจำเดือนของผู้หญิงเป็นของต่ำก็เริ่มเสื่อมความนิยมไป และอาจจะหายไปจากบางสังคมบางวัฒนธรรมในอนาคต?

ทั้งๆที่ความไม่ถาวรและการเปลี่ยนแปลงได้ของสังคมมนุษย์ จะเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยโอบรับความคิดที่ว่านี้ หนึ่งในพวกเราหลายๆ คนต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรามองเป็นของตาย พวกเราชอบที่จะยึดถือในสิ่งที่พวกเราคุ้นเคย มีเสถียรภาพ และคาดเดาได้ แต่ก็นั้นแหละ เราเปลี่ยนแปลงความจริงอย่างเดียวของโลกนี้ไม่ได้ นั่นก็คือ ความจริงที่ว่า ‘ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง'

ถ้าเกิดคุณรู้สึกว่าความจริงข้างต้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ต่อคุณเสียเท่าไหร่นัก คุณอาจต้องเปลี่ยนความคิด เพราะมีบทเรียนมากมายที่ย้ำเตือนเราว่าโลกมันกำลังเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือการมีอยู่ของมนุษย์ หรือตัวคุณเอง

จะว่าไปมนุษย์เรานี่แหละครับที่เป็นตัวการของสิ่งเหล่านี้ พวกเราคล้ายกับเป็นเครื่องจักรแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกทางสังคมของพวกเราไม่ได้เปลี่ยนไปด้วยตัวมันเอง แต่มันเปลี่ยนเพราะการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของเรา เริ่มตั้งแต่ที่เราตั้งคำถามกับเรื่องเล็กๆ — “ทำไมเด็กผิวดำอย่างผมต้องทำงานในไร่ฝ้าย ในขณะที่เด็กผิวขาวได้ไปโรงเรียนครับพ่อ”, “ทำไมเราต้องเคารพรักกษัตริย์ที่ไม่ได้รักพวกเราครับ” ไปจนถึงการตั้งคำถามกับบรรทัดฐาน กฎหมาย — “ทำไมคนรวยขับรถชนคนแล้วไม่โดนจับครับ” รวมไปถึงการจิตนาการถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ผ่านการเรียนรู้ต่างวัฒนธรรม — “ทำไมประเทศสแกนดิเนเวียนไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแต่สงบสุขกว่าไทยครับ” คำถามเหล่านี้กำลังสร้างหนทางความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

การที่พวกเรารู้ว่าสังคมกำลังเปลี่ยนไป โดยมีพวกเราเองเป็นสาเหตุ จะนำทางเลือกมาให้เรา นั่นก็คือ แล้วเราจะรับบทอะไรในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้?

1.รับบทตัวละคร ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป
2.รับบทเป็นก้อนหิน ต้นไม้ ใบหญ้า อยู่เงียบ ๆ และปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจว่าสังคมควรจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน

แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตเราในอนาคตทั้งนั้น W. E. B. Du Bois (1868—1963) นักคิดชาวอเมริกันได้กล่าวไว้

"เราทุกคนเลือกได้ว่าจะเป็นหนึ่งในแรงงานผู้ก่อสร้างอานาจักรของสังคมแห่งใหม่ หรือเป็นไทยมุงยืนมองสังคมรอบตัวเราถูกเปลี่ยนไป" – W. E. B. Du Bois

แต่ก็เหมือนกับชื่อบทความนี้แหละครับ ไม่มีตัวเลือกไหนเลยที่เป็นกลาง การตัดสินใจเลือกเป็นไทยมุง ก็คือการเลือกให้คนอื่นมาตัดสินใจแทนเรา ปล่อยให้เขาสร้างสังคม สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่สุดท้ายแล้วไทยมุงทั้งหลายก็จะต้องอยู่ภายใจ้สังคมแห่งนี้ สังคมที่ตนไม่มีส่วนสร้างเลย

หนังสือชีวประวัติของโฮเวิร์ด ซินน์ (Howard Zinn) มีชื่อว่า 'คุณเป็นกลางท่ามกลางรถไฟที่เคลื่อนอยู่ไม่ได้หรอก/ You Can't Be Neutral on a Moving Train: A Personal History of Our Times'

ซินน์เป็นนักกิจกรรม นักการศึกษา และนักประวัติศาสตร์ หนังสือและงานชิ้นอื่นๆ ที่เขาเขียนถูกแบนไม่ให้อยู่ในหลักสูตรการสอนของโรงเรียนในรัฐอาร์คันซอ แต่กลับถูกใช้เป็นแบบเรียนมาตรฐานในอีกหลายๆ รัฐ

เขาคือเจ้าของหนังสือชื่อดัง A People’s History of the United States หนังสือประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ต่างจากเล่มอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้ถูกเขียนผ่านมุมมองของชายผิวขาวผู้ร่ำรวย แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าผ่านสายตาของผู้หญิงบ้าง คนผิวสีบ้าง ชาวอเมริกันพื้นเมือง รวมไปถึงแรงงานผู้อพยพ คนจนในโรงงาน และกลุ่มผู้ที่ถูกประวัติศาสตร์หลงลืมกลุ่มอื่นๆ

มีคนบอกว่างานของซินน์ นั้นเต็มไปด้วยอคติและมองผ่านมุมของตัวเขาเอง แน่นอนครัย ผมไม่ปฏิเสธหรอก แต่ไม่ใช่แค่หนังสือของเขาน่ะสิ หนังสือประวัติศาสตร์อเมริกาเล่มอื่นๆ ก็มองจากมุมเดียวทั้งนั้น ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์เคยได้ยินกันใช่ไหมครับ แต่พอผู้แพ้ลุกขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองบ้าง กลับถูกมองว่าอคติซะงั้น

ถ้าเทียบระดับความถูกต้องหรือระดับความอคติแล้ว ไม่ว่าประวัติศาสตร์ของใครก็น่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน อย่างที่ซินน์กล่าว "ถ้าเรามองประวัติศาสตร์จากมุมมองของคนที่ถูกกดขี่ ยังไงก็ต้องแตกต่างจากมุมของผู้กดขี่อยู่แล้วสิ"

ดังนั้นคนที่วิจารณ์ซินน์ว่าประวัติศาสตร์ของเขาอคติ คงคิดไปเองว่า ‘คนเราสามารถเป็นกลางบนรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ได้’ น่าตลกที่พวกเขาเหล่านั้นมีสมมุติฐานต่อนักเขียนประวัติศาสตร์อเมริกาที่เขียนประวัติศาสตร์เพื่อเชิดชูและส่งเสริมผู้มีอำนาจว่ามีความเป็นกลางและยุติธรรม แต่กลับมองซินน์ที่เขียนประวัติศาสตร์เพื่อคนด้อยอำนาจและชนกลุ่มน้อยว่าเป็นพวกเลือกข้างและอคติ

"การเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างคนมีอำนาจกับคนไร้อำนาจ คือการเลือกข้างคนมีอำนาจ" — Paulo Freire นักการศึกษาและนักกิจกรรมชาวบลาซิล

สิ่งที่ซินน์ และแฟร์คิดเหมือนกัน ได้เข้าสู่หัวใจของผู้คนในสมัยนี้ คนทั่วโลกออกมาแสดงออกถึงเสียงของพวกเขา ผ่านการเดินขบวน การประท้วง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่แสดงออกถึงการต่อต้าน

คนเหล่านี้เข้าใจแล้วว่าภาวะเป็นกลางไม่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน The women’s March – เพื่อสิทธิ์ที่เท่าเทียมของสตรี The day without Immigrants – เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อพยพ The Tax March – การเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวย The Pride March – การเรียกร้องสิทธิ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ เยาวชนปลดแอก – 3 ข้อเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย รวมไปถึงการประท้วงอื่นๆ ทั่วโลก เป้าประสงค์ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ผู้มีอำนาจในสังคม ไม่ควรเป็นกลุ่มเดียวที่กุมอนาคตการเปลี่ยนแปลงของประเทศ

เห็นได้ว่าสังคมปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคของการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับกว้าง โดยในทางสังคมวิทยาให้คำอธิบายว่าการเคลื่อนไหวทางสังคม คือ การที่คนกลุ่มใหญ่ต้องการที่จะมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าหลายๆ กระบวนการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นมาจากคนกลุ่มเล็กๆ ก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม

แต่ถึงแม้จะมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งในพื้นที่ออนไลน์และบนท้องถนน แต่ยังมีคนหลายคนที่ชื่นชอบที่จะเป็นไทยมุงมองเมียงอยู่เงียบๆ แทนที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะพวกเขายังไม่เข้าใจหรือไม่สนใจ ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่อยากข้องเกี่ยว หรือบ้างก็เพราะไม่สนใจการเมือง เบื่อการเมือง หรือเพราะมีชีวิตที่ดีพออยู่แล้ว และมองว่าไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ผมอยากให้คุณตระหนักไว้เสมอ ว่าคุณกำลังปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจแทนคุณ

ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะย้ำเตือนให้คนรอบตัวที่เฉยฉา และไม่มีส่วนร่วมกับโลกทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้ ให้เขาทราบว่าทุกหนทางที่พวกเขาเลือกหรือไม่เลือก ล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่ทราบ ผมหวังว่าโพสต์นี้จะช่วยให้คุณเข้าใจและตื่นรู้ขึ้นมา แต่หากคุณใกล้จะเชื่อผมแล้ว แต่ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ ผมขอยกคำพูดของนักมานุษยวิทยาผู้เป็นตำนาน Margaret Mead (1901-1978)

ไม่ต้องแปลกใจหรอกที่การเปลี่ยนแปลงระดับโลกจะเกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีศรัทธาและอุดมการณ์ร่วมกัน เพราะแท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทั้งมวลในประวัติศาสตร์ล้วนเริ่มจากคนกลุ่มเหล่านี้ทั้งสิ้น" — Margaret Mead

บทความนี้เราแปลและเรียบเรียงมาจากบล็อกโพสต์ “You Can’t Be Neutral on a Moving Train.” ของ Peter Kaufman สามารถตามอ่านต้นฉบับ ที่นี่ ครับ