Love is sociological ความรักเกี่ยวกับสังคมวิทยาด้วยนะ

Love is sociological ความรักเกี่ยวกับสังคมวิทยาด้วยนะ
Photo by Annie Spratt / Unsplash


คงเคยได้ยินกันมาชินหูว่าความรักมันยากจะอธิบาย แต่กระนั้นหลากหลายศาสตร์ก็พยายามหาสาเหตุหรืออธิบายเรื่องความรักกันอยู่เนืองๆ ที่เรามักพบเจอพบเจอบ่อยๆ คือคำอธิบายผ่านกรอบของหลักจิตวิทยา, ชีวะวิทยา และหรือศาสตร์อื่นๆ ในฐานะผู้ศึกษาสังคมวิทยาผมจะขอยกมาอธิบายความรักบ้างนะครับ

ตอนวาเลนไทน์ปี 62 ผมมีโอกาสอ่านบทความ ชิ้นนี้ ของปีเตอร์ คอฟแมน* อดีตอาจารย์สังคมวิทยาแห่ง The State University of New York at New Paltz ครับ ผมจะหยิบมาเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาไทยครับ

หากจะพูดว่าความรักเป็นเรื่องที่อธิบายได้ผ่านหลักการทางสังคมวิทยา คงจะมีหลายคนคัดค้านและไม่เห็นด้วย เพราะการที่พูดแบบนั้น คล้ายทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของความรัก เพราะความรักควรจะเป็นเรื่องธรรมชาติ สัญชาตญาณดิบที่ควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาตกหลุมรักใครแล้วมักมีเหงื่อไหล่ตามง่ามนิ้วมือ ผีเสื้อบินในท้อง เข่าอ่อน หรือต่อให้ไม่รู้สึกทุกข้อที่กล่าวมา แต่อย่างน้อยก็รู้สึกถึงความอบอุ่นและความสุขภายในอยู่ดี ปฏิกิริยาตอบสนองที่ว่ามานี้ สามารถใช้พิสูจน์ว่าความรักมันเกี่ยวกับเรื่องทางร่ายกาย เรื่องทางกายภาพ มนุษย์เราควบคุมไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องที่ยกมาอธิบายผ่านสังคมวิทยาได้แน่ๆ

อาจต้องยอมรับว่าจริงอยู่ ที่เมื่อคนเราตกหลุมรักจะแสดงออกผ่านทางร่างกาย รวมถึงความแปรปรวนของอารมณ์ ความรู้สึก แต่เหตุผลและที่มาของอาการเหล่านั้นล่ะ จะอธิบายยังไงดี? เทพน้อยคิวปิดยิงศรรักใส่แล้วเหงื่อไหลท่วมง่ามมือเลยเหรอครับ หรือคนเรารับรู้ว่าสิ่งๆ นั้นคือความรัก แค่เพราะมองเห็นด้วยตาหรอกเหรอ ผมว่ายังไม่ใช่ ลองตอบคำถามเหล่านี้กัน

เรารักใครได้บ้าง

ถึงแม้พวกเราจะถูกบอกต่อกันมาว่าความรักทำให้คนตาบอด รวมถึงประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ด้วยในบางที เช่น ลิ้นที่ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน แต่ก่อนที่จะตาหรือลิ้นของเราจะดับลงเพราะความรัก 'อคติ' ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

มีงานศึกษาทางสังคมวิทยามากมายที่ค้นพบว่า ท้ายที่สุดแล้วคนเรามักลงเอยกับคู่ครองที่มีอะไรเหมือนๆ กันกับเรา ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา ระดับหน้าตา ฐานะ แม้กระทั่งความคิดทางการเมือง แนวคิดทางสังคมวิทยา/จิตวิทยา เรียกสิ่งนี้ว่าว่าหลักแห่งความคล้ายคลึง (homophily) ที่บอกว่าคนเหมือนๆ กันจะถูกดึงดูดเข้าหากัน ซึ่งเอาจริงๆ แล้วแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะเข้าใจ ลองนึกดูสิคนชอบแมวก็คงลงเอยกับคนชอบแมว ไม่ใช่หมา เอ้ย คนชอบหมาแบบเราๆ โฮ่งๆ

แต่กระนั้นก็อย่าเพิ่งเศร้าใจนะครับ สังคมวิทยายังมีแนวคิดผลกระทบแห่งความใกล้ชิด (the propinquity effect) และทฤษฎีการติดต่อ (contact theory) ที่ค้นพบว่าอุปสรรคของความรักที่กล่าวถึงไปข้างต้นจะถูกลดความสำคัญลงได้ ถ้าคนที่แตกต่างกันได้มาใกล้ชิดกันบ่อยๆ คุยกันเยอะๆ หรือการอาศัยอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายสูง จะสามารถมองข้ามเรื่องเชื้อชาติ ชนชั้นไปได้ ทีนี้หมา เอ้ย คนชอบหมาแบบเราก็มีโอกาสได้ใจเค้าแล้วนะ

เราแสดงออกความรักกันแบบไหน

พวกเราส่วนใหญ่ทราบกันดีว่าการแสดงออกแบบไหนที่เรียกว่ารัก เช่น การให้ดอกไม้ การให้ช็อคโกแลต หรือการ์ดอวยพร ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้วสิ่งเหล่าไม่ได้บ่งบอกถึงความรักในตัวมันเองเลยด้วยซ้ำ อย่างการให้ช็อกโกแลตต่างยังไงกับการให้เนยถั่ว มันก็หวานเหมือนกันไม่ใช่เหรอ

เห็นไหมละ เราทราบความหมายของสิ่งเหล่านี้ผ่านการกล่อมเกลาทางสังคม ไม่ใช่แค่สิ่งของนะ คำพูดก็เช่นกัน ‘ผมอยู่โดยขาดคุณไม่ได้หรอกนะ’ — เธอ เราไม่ใช่อากาศนะ, ‘คุณเติมเต็มส่วนที่ขาดไปของผม’ — เธอ เราไม่ใช่สมองนะ (หยอกๆ) หรือแม้กระทั่ง ‘พวกเราเกิดมาคู่กัน’ — ฉันไม่มีแฝดซักหน่อย แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกพูดกันเกร่อ และมันฟังไม่แสลงดู ดูสมเหตุสมผลได้ เพราะพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมที่มองว่าสิ่งเหล่านี้มันสมเหตุสมผลต่างหาก การกระทำก็เช่นกัน การกอด การจูบ หรือการลูบหัว ทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นตัวแทนของความรักได้ล่ะ

ในหนังสือ Modern Romance ของ Aziz Ansari และ Erik Klinenberg พวกเขาตั้งคำถามถึงวิธีการแสดงออกถึงความรักของมนุษย์เรา อย่างการให้โหลใสใส่กระดาษพับรูปหัวใจ หรือการให้ช่อดอกไม้ มันเป็นผลลัพธ์ของสัญชาตญาณ หรือเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มันยากจริงๆ นะที่จะปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของผลผลิตการขัดเกลาทางสังคมที่เราได้รับจากครอบครัว เพื่อน และสื่อต่างๆ รวมถึงศาสนาก็ด้วย

ท้ายที่สุดนี้ หากยังไม่เชื่อว่าการแสดงออกของความรักมันไม่ใช่เรื่องธรรรมชาติและเปลี่ยนไปตามกาละเทศะ ก็ให้ลองถามคุณปู่ คุณทวดดูว่า สมัยก่อนท่านแสดงออกถึงความรักกันยังไง แต่ที่แน่ๆ เชื่อเหอะว่าต่างกับคุณแน่ๆ อย่างน้อยท่านก็ไม่ส่งสติ๊กไลน์ใช่ไหมล่ะ

เราจะรักกันตอนไหน

สมัยเรียนมัธยมไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเห็นผู้หญิงกับผู้ชายเดินจับมือ กอดจูบลูบคลำกันในโรงเรียน แต่กลับกันพอขึ้นมหา'ลัยปุ๊ป สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติซะงั้น สำหรับใครบางคนอาจอธิบายสิ่งนี้ผ่านมุมมองทางชีวะวิทยา โดยการบอกว่ามัธยมมันยังเด็กอยู่ไง เลยไม่รู้สึกกระเหี้ยนกระหือรือเท่าตอนขึ้นมหาวิทยาลัย เอ้ยแก ม.6 กับ ปี 1 ห่างกันแค่ 6 เดือนเองนะ ระดับฮอร์โมนมันจะพุ่งกระฉูดเลยเหรอ การมีอยู่ของบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างกันระหว่างโรงเรียนและมหา'ลัยหากที่อธิบายสิ่งนี้ได้ดี เชื่อผมเถอะ

เราจะรักกันเมื่อไหร่

ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ การบอกรักแม่ตอนท่านมาส่งหน้าโรงเรียนอนุบาลหมีน้อย การกอดพี่ชายตอนเขาแบ่งของเล่นให้ หรือการบอกรักเพื่อนสนิทตอนคุณครูให้นอนกลางวัน สิ่งเหล่านั้นไม่ได้แปลกและน่าอายเลย

แต่ทำไมพอโตขึ้นมา แล้วมันทำได้ยากขึ้นนะ กอดพี่ชายหน่อยสิครับตอนเขาซื้อของขวัญวันเกิดให้ บอกรักเพื่อนอีกทีตอนมัธยมได้ไหม หรือหอมแก้มแม่หน่อยตอนท่านขับรถมาส่งในมหา'ลัย บ้าสิ! เดี๋ยวก็โดนเพื่อนล้อมองว่าเป็นลูกแหง่หรอก เห็นอะไรบ้างไหมครับ

ที่กล่าวไปข้างบนเป็นแค่คำถามส่วนหนึ่ง ที่ช่วยให้เห็นว่าความรักถูกสังคมประกอบสร้างขึ้นมายังไงบ้าง แต่จริงๆ แล้วยังมีหลายคำถามที่ผมยังไม่ได้ถามคุณออกไป เราจะรักกันที่ไหน - พื้นที่แต่ละที่อนุญาติให้เราแสดงออกถึงความรักเท่ากันหรือเปล่า ลองไปจูบกันต่อหน้าเด็กประถมสิ คงจะโดนคุณครูเขกกะบาลเข้าให้ เรารักกันทำไม - ถ้าลองคิดว่าทุกคนในโลกไม่รักกัน อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขตามบริบทกฎหมาย จะเป็นไปได้ไหม (ถ้าเราไม่รักเพื่อนมนุษย์จะมีกฎหมายขึ้นมาตั้งแต่แรกไหมนะ) เรารักอะไรได้บ้าง - ความรักของเราที่มีต่อน้องหมา หรือต่อปากกาด้ามโปรด เรียกความรักได้หรือเปล่า หรือคำถามที่ยิ่งใหญ่และท้าทายที่สุดของมนุษยชาติ ความรักคืออะไร - ตอบยากจังเลยแฮะ ว่าแต่คำตอบของคุณมันจะยังเหมือนเดิมไหมถ้าเวลา, สถานที่, หรือสิ่งที่คุณรักเปลี่ยนไป คุณไม่ต้องตอบผมหรอก ตอบตัวเองดูแล้วจะรู้แล้วว่าจริงๆ แล้วความรักโคตรเป็นเรื่องของสังคมวิทยาเลย จริงๆ นะ


*อาจารย์ปีเตอร์ คอฟแมน จากพวกเราไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2018 ด้วยโรคมะเร็งปอด เขาได้แบ่งปันประสบการณ์ต่อสู้กับโรคร้ายอยู่เนืองๆ ในทวิตเตอร์ ทวีตสุดท้ายของเขาชื่อเธรดว่า "What Do I Want to Do Before I Die?" ช่างหวานซึ้งและขมเข้ม ชวนอ่านครับผม