จากกรณีดราม่าแนนโน๊ะ สู่มุมเชิงสังคมวิทยาว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์

จากกรณีดราม่าแนนโน๊ะ สู่มุมเชิงสังคมวิทยาว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์
Photo by Lloyd Dirks / Unsplash


ผมเลือกเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาจากประเด็นดราม่าเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีที่มีเพจหลายเพจทำการไลฟ์สดให้ดูซีรีส์เรื่อง เด็กใหม่ (Girl from Nowhere) ซีซั่น 2 ทาง Facebook แบบฟรีๆ และแน่นอนว่าต้องมีคนไม่เห็นด้วย โดยแสดงออกผ่านการก่นด่าไปยังผู้เผยแพร่ และผู้ที่เข้าไปรับชมครับ

แนนโน๊ะ ตัวละครหลัก จากซีรีส์เด็กใหม่ (Girl from Nowhere)

โดยผมขออธิปรายประเด็นนี้เงียบๆ ไม่ได้เห็นด้วย หรือสนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาของคนอื่นนะครับ ถูกผิดสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ผมไม่ได้ต้องการแทรกแซงหรือสร้างความชอบธรรมให้ใคร เพียงแต่ต้องการแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่าทรัพย์สินทางปัญญา มันเป็นประเด็นที่ถูกมองผ่านเลนส์สังคมวิทยาได้ด้วย และมันมีผลกระทบต่อสังคมเราด้วยครับ

ปัจจุบันนี้ทรัพย์สินทางปัญญาที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Intellectual Property) จำพวก เพลง ซีรีส์ ภาพยนต์ และอื่นๆ มีมูลค่ามหาศาล อย่างในสหรัฐอเมริกาทรัพย์สินทางปัญญาแบกรับหน้าที่ในการทำให้ GDP เติมโตขึ้นถึง 38.2% เลยครับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจใช่ไหมครับ ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์จะหวงและพยายามหนักมากในการปกป้องไม่ให้มีการละเมิด ของของมันทำเงินซะขนาดนี้ เป็นผมก็คงไม่ยอมให้ใครมาแย่งไปง่ายๆ

หลายคนให้คำอธิบายว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคคอนเทนต์แบบถูกกฎหมายมากกว่า ถ้ามันเข้าถึงได้ง่ายและไม่แพงเกินไป (1,2) แต่ผมว่ามันค่อนข้างสมเหตุสมผลนะครับ ให้ลองนึกถึงสมัยที่เรายังไม่มีแอปสตรีมมิ่งให้ใช้กันแบบทุกวันนี้ ตอนนั้นคนแห่กันไปใช้ของผิดลิขสิทธิ์ เช่นโหลดไฟล์ผ่าน Limewire (แก่จัง ฮ่าๆๆ), 4shared หรือบางคนอาจใช้บริการแปลงไฟล์จากวีดีโอที่ให้ดูฟรีบนเว็บเก็บไว้เป็น .Mp3 ไว้ฟังในฐานะเพลงไปเลยก็มี ผมจำได้ว่า youtube2mp3 บูมมากๆ เลยตอนนั้น

แต่พอเพลงเหล่านั้นถูกทำให้เข้าถึงง่ายและสะดวกขึ้นมา แม้นจะต้องแลกด้วยการจ่ายเงินอย่าง iTune, Apple Muisc หรือฟรีเมี่ยมที่ฟรีแต่แลกมาด้วยเงื่อนไขอย่าง เช่น โฆษณา อย่าง Joox, Spotify ช่องทางละเมิดกฎหมายที่ผมกล่าวถึงไปก่อนหน้าก็ล้มหายตายจาก ผมขอเช็คหน่อยครับว่าตอนนี้ใครยังใช้ 4shared สำหรับดาวน์โหลดไฟล์เพลงผิดลิขสิทธิ์อยู่บ้าง ผมคิดว่าไม่น่าจะมีแล้วนะ เห็นไหมครับว่าเหล่าคนเลวที่ละเมิดลิขสิทธิ์ก่อนหน้า ไม่ได้เลวขนาดที่จ้องจะละเมิดกฎหมายตลอดเวลา ถ้าสิ่งที่เขาต้องการเข้าถึงได้ง่ายและในราคาที่เขาจ่ายไหว

อีกเคสหนึ่งคือช่วงต้นปี 2000 สมัยนั้นการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนต์ผ่านระบบ peer-to-peer file sharing (P2P) : BitTorrent สูงมากๆ แต่ภายหลังการมาของ Netflix ก็ส่งผลโดยตรง ทำให้อัตราการใช้ BitTorrent ลดลง ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วอินเตอเน็ตก็เร็วขึ้น โหลดบิตก็เร็วขึ้นไปด้วย เว็บไซต์อย่าง The Pirate Bay ก็ยังมีให้ใช้อยู่ แต่คนมันไม่ใช้เพราะหันไปใช้ Netflix คนดันไปเลือกช่องทางที่ถูกกฎหมายและต้องจ่ายเงิน โครตเจ๋งเลย ขอพูดซ้ำอีกครั้ง ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เลวขนาดที่จ้องจะละเมิดกฎหมายตลอดเวลา ถ้าสิ่งที่เขาต้องการเข้าถึงได้ง่ายและในราคาที่เขาจ่ายไหว

กลับกันในปัจจุบันนี้ ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาเยอะมากเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะ Hulu, Amazon Prime, HBO Go, CBS All Access หรือ Disney Plus อีก สิ่งเหล่านี้ 'เข้าถึงง่าย' ก็จริงครับ แต่คนเริ่ม 'จ่ายไม่ได้' แล้ว อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการ Torrenting ก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลักฐานพวกนี้มันช่วยให้เห็นได้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์มันไม่ได้อยู่ที่จริยธรรมส่วนบุคคลอย่างเดียว แต่ปัจจัยทางการตลาดและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจก็มีผลร่วมด้วยครับผม

The Rise of Netflix Competitors Has Pushed Consumers Back Toward Piracy
BitTorrent usage has bounced back because there’s too many streaming services, and too much exclusive content.

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนอาจมีข้อโต้แย้งว่า 'เอ้ย ถ้าเกิดคนมันมีจริยธรรมจริงๆ มันก็ไม่ทำหรือเปล่า ไม่มีปัญญาจ่ายก็อย่าไปดูสิ' ที่ผมพอเห็นผ่านตาคือการเทียบการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญากับทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น เทียบภาพยนต์กับรถยนต์ หากไม่มีเงินซื้อรถยนต์ควรทำอย่างไร ระหว่าง 1.ขโมยรถ หรือ 2.เลือกเดินทางโดยวิธีอื่น โดยเปรียบว่าการละเมิดลิขสิทธ์ก็เหมือนเลือกที่จะขโมยรถ แน่นอนว่าถูกต้องในแง่ที่ว่ามันผิดกฎหมายเหมือนกันครับ

แต่จริงๆ แล้ว มันเทียบกันไม่ง่ายแบบนั้น เพราะว่าคอนเทนต์อย่างเพลง หรือหนังดังๆ พวกนี้ มันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ความบรรเทิง แต่มันยังทำงานในฐานะวัฒนธรรมด้วยครับ กล่าวคือ มันทำให้คนที่เสพกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วยครับ ผมอยากให้คุณลองจิตนาการว่าคุณอาศัยในชุมชนเล็กๆ ชนบท แต่คุณไม่เคยไปร่วมงานศพของคนในหมู่บ้านเลย คุณไม่ตายหรอกครับ แต่คุณจะแปลกแยกจากชุมชนนั้นๆ

ผมอาจยกตัวอย่างเว่อร์ไปเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่หลักการคือแบบเดียวกันเลยครับ หนัง/ซีรีส์ดังๆ มันทำงานคล้ายวัฒนธรรมของสังคม มันอาจไม่ชัดเจนเท่าพิธีงานศพ แต่มันมีลักษณะของวัฒนธรรมอยู่จริงๆนะ ครับ เช่น หากคุณอยู่ในแก๊งกะเทย แล้วคุณไม่เคยดูภาพยนต์เรื่องหอแต๋วแตก คงจะแปลกน่าดูถ้ามีเพื่อนกะเทยมาตะโกนใส่คุณว่า "หล่อนมีพิรุธอีกแล้วนะ" หรือ "ที่เจ๊ไล่หนูออกจากบ้าน..."

อย่างหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Harry Potter หรือ Star War ถ้าคุณไม่เคยดู คุณจะถูกตัดขาดจากสังคมมีมในโลกออนไลน์ไปเยอะเลยนะครับ หรืออย่างซีรีส์เด็กใหม่ที่เป็นประเด็น ตอนซีซั่น 1 ดังมากๆ เลยนะครับ มีเพจทำมีมแนนโน๊ะร่ายรำหน้าเสาธงออกมาเต็มไปหมด ซีซั่น 2 เลยไม่แปลกใจถ้ามีคนจำนวนมากรอติดตาม

ถ้าคุณไม่ดูคุณจะเก็ทสิ่งที่หลายๆ เพจสร้างคอนเทนต์ออกมาในช่วงเวลานั้น คุณจะรู้สึกแปลกแยกจากคอมเม้นต์ งงๆ ว่าเขาขำอะไรกันนะ ซึ่งภาวะกลายเป็นชายขอบแบบนี้ไม่ใช่สภาวะที่มนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมชอบเลยครับ อย่างไรแล้วผมไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นจนสามารถใช้เป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมในการละเมิดลิขสิทธิ์นะครับ แต่ผมยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าสื่อพวกนี้ มันมีอิทธิพลต่อคนในสังคมขนาดไหน มันทำให้เราคุยกับคนอื่นได้ มันไปไกลกว่าแค่ความบรรเทิงส่วนบุคคลจริงๆ นะ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนถึงพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะเข้าถึงมัน แม้จะต้องละเมิดกฎหมายก็ตาม

ภาพลวงตาอย่างหนึ่งของการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์ชอบสร้างเหตุการณ์ทวิภาคสุดโต่งที่ไม่มีจริงขึ้นมา (ใช้คำเท่จัง ฮ่าๆ) อธิบายง่ายๆ คือเจ้าของลิขสิทธิ์ชอบคิดว่าถ้าคนไม่เข้าถึงเนื้อหาแบบถูกลิขสิทธิ์ คนก็ต้องไปใช้วิธีผิดลิขสิทธิ์นั่นแหละ หรือไม่ขาวก็ดำทึบไปเลย

ในปี 2010 RIAA (Recording Industry Association of America) ได้ยื่นฟ้อง Limewire โปรแกรมแบ่งปันไฟล์ออนไลน์ผ่านระบบ P2P (คล้ายๆ BitTorrent ด้านบนครับ) โดย RIAA กล่าวว่าทุกครั้งที่คนดาวน์โหลดแบบผิดกฎหมายบน Limewire 1 ครั้ง เท่ากับว่าเจ้าของลิขสิทธิ์จะสูญเสียโอกาสในการทำราย/ขายคอนเทนต์ไป 1 ชิ้นเช่นเดียวกัน

ซึ่งเมื่อนำจำนวนครั้งที่โหลดแบบผิดกฎหมายไปคูณกับจำนวนความเสียหาย 1 หน่วยแล้ว ผลออกมาว่า Limewire ต้องชดใช้ 72 ล้านล้านดอลล่าห์ ซึ่งเยอะเกินความเป็นไปได้มากๆครับ Forbes เขียนบทความถึงเคสนี้ไว้ว่า มูลล่าความเสียหายดังกล่าวมากกว่ามูลล่าของทุกสิ่งที่ผลิตได้ทั้งปี ของมนุษย์ทุกคนบนโลกรวมกันเสียอีก ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยครับ ดังนั้นการเทียบ 1:1 คือความผิดพลาดเชิงตรรกะอย่างร้ายแรง

The RIAA: Do Not Believe a Word They Say, Ever, For They’re Claiming $72 Trillion in Damages. Updated, See Correction
It’s possible to be aggressive in the pursuit of your goals, it’s even possible to be righteously harsh on those who have damaged the economic prospects of your membership. And then it’s possible to be the RIAA and fall off the edge into economic insanity. For in the case against [...]

อย่างที่ผมได้กล่าวไปหลายครั้งว่าคนส่วนใหญ่จะเสพสื่อผ่านช่องทางที่ผิดกฎหมาย ก็ต่อเมื่อเขาเข้าถึงมันหรือจ่ายมันไม่ได้ ในช่องทางแบบถูกกฎหมาย นอกจากนี้มีงานวิจัยในอังกฤษและฝรั่งเศสหลายชิ้น ที่พบว่า คนที่เสพสื่อออนไลน์แบบผิดลิขสิทธิ์มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ซื้อกลุ่มใหญ่ของเนื้อหาแบบถูกลิขสิทธิ์ด้วย

Study Again Shows ‘Pirates’ Tend to Be The Biggest Buyers of Legal Content
A new report out of the UK once again deflates the common narrative that pirates are exclusively looking to obtain free stuff.

ในสังคมเราปัจจุบันมีเนื้อหาดีๆ คอนเทนต์ดังๆ มากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เราอยู่ คนส่วนใหญ่ซื้อมันแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ไม่หมดหรอกครับ เลยต้องหาวิธีอื่นๆ เช่น ดูผ่านบัญชีออนไลน์สตรีมมิ่งของเพื่อน ซึ่งวิธีดังกล่าวก็สร้างความสูญเสีย/ไม่สร้างรายได้ให้เจ้าของเนื้อหาไม่ต่างกับวิธีละเมิดลิขสิทธิ์เลย แย่กว่าตรงนี้ใช้เซิร์ฟเวอร์ด้วย ดังนั้นวิธีคิดแบบไม่ดำก็ขาว จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีเท่าไหร่ครับ นอกจากนั้นจะยิ่งผลักคนจำนวนมากให้ละเมิดกฎหมายเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี (เข้าถึงได้และจ่ายได้) คนส่วนใหญ่ไม่เลือกทำผิดกัน

แต่ผมไม่ได้หมายความว่าคนเลวบริสุทธิ์ไม่มีเลยนะ บางคนต่อให้มีพร้อมทุกอย่างก็เลือกที่จะละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดี และไม่มีทางเลยที่จะกำจัดคนแบบนี้ออกจากสังคมได้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือลดจำนวนคนแบบนี้ให้เหลือน้อยที่สุดจนไม่มีนัยยะสำคัญต่อยอดการเติบโตทางการตลาด ผ่านการจัดการที่ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างความเหลื่อมล้ำ รายได้ขั้นต่ำ ความยากจน

อ้อ! ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้คือข้ออ้างในการทำผิดนะ แต่การแก้ปัญหาพวกนี้นำไปสู่การลดจำนวนการละเมิดลิขสิทธิ์ได้จริงๆนะครับ ลองดูประเทศที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงๆ แล้วดูเงื่อนไขเชิงโครงสร้างอย่างระดับการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ การเมือง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำดูสิครับว่ามันสัมพันธ์กันจริงๆ นะ

Why poor countries lead the world in piracy
Cory Doctorow: Beating copyright infringement in the third world could be as simple as making products affordable

ท้ายที่สุดอย่าเข้าใจผมผิดว่ากำลังส่งเสริมหรือสร้างความชอบธรรมให้การละเมิดลิขสิทธิ์นะครับ เพราะยังไงผมก็ยอมรับว่าการละเมิดลิขสิทธิ์มันผิดกฎหมายอยู่ดี แต่ผมพยายามแนะให้เห็นว่าการตัดสินว่า คนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ = คนชั่วนั้น ค่อนข้างด่วนตัดสินไปหน่อย หรือการมองว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดที่ตัวบุคคลแบบดำสนิท มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทีเดียว

มีเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่างมากที่มาซ้อนทับนอกเหนือไปจากที่เรามองเห็นโต้งๆ อีกอย่างการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายแรงๆ เช่น ประหารชีวิต มันเอาไม่อยู่หรอกครับ อย่างที่บอกไปว่าสื่อพวกนี้มันจำเป็นต่อชีวิตทางสังคมมากกว่าแค่ความบรรเทิงส่วนตัว ยังไงคนก็พยายามหาทางเข้าถึงมันอยู่ดี

ดังนั้นวิธีที่พอจะเป็นไปได้มากที่สุด และเกิดประโยชน์กับทุกๆฝ่าย คือ การพยายามแก้ไขปัจจัยเชิงโครงสร้างให้มันดีขึ้น ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ ความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพชีวิต เมื่อทุกอย่างดีแล้ว เนื้อหาลิขสิทธิ์เหล่านี้ก็จะเข้าถึงง่ายและจ่ายได้สำหรับคนทุกกลุ่ม เพื่อที่จะได้ลดจำนวนคนละเมิดสิทธิ์ให้เหลือน้อยที่สุด โดยหากใครยังถามต่ออีกว่าขอวิธีแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมหน่อย อย่างแรกเลยนะขอรัฐบาลที่ฉลาดๆ เถอะครับ แฮ่ๆ

อ้อ! ขออีกนิด ในเชิงสังคมวิทยาเราสามารถมองคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ผ่านแว่นของแนวคิด deviance ได้ด้วยนะครับ โดย Émile Durkheim (1895) บอกว่าสังคมที่มันจะก้าวหน้าและทำงานได้ดีนั้น มันต้องมี deviance เหล่านี้ประมาณหนึ่งด้วย แต่ต้องไม่มากเกินไปนะ (เพราะถ้ามากจนกลายเป็นคนส่วนใหญ่ก็ไม่เรียก deviance แล้ว) หรือไม่มีเลยก็ไม่ได้ เพราะการจะทำแบบนั้นต้องอาศัยวิธีการปกครองแบบฟาสสิสต์สุดขั้ว และอีกอย่างหลายๆ ครั้ง deviance ก็สร้างผลผลิตให้สังคมด้วยนะ อย่างซอฟแวร์ Open-Source ต่างๆ ก็เริ่มต้นจากคน deviance ที่ไม่ต้องการจ่ายเงินให้ซอฟแวร์ลิขสิทธิ์นะ (ยกตัวอย่างเฉยๆนะ ไม่ได้เทียบกับกรณีข้างบน)


บทความนี้ผมแปลงมาจากบทความ A Sociological Perspective of Online Piracy นะครับ โดยได้ประยุกต์เหตุการณ์กรณีดราม่าซีรีส์เรื่องเพื่อนใหม่ และตัด/เปลี่ยน/เสริมบริบท ที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่ากับนักอ่านที่เป็นคนไทยเข้าไปด้วยครับ หากท่านใดต้องการอ่านเนื้อหาเดิมแบบเพียวๆ สามารถตามไปอ่านกันได้เลยนะครับ

A Sociological Perspective of Online Piracy
In the contemporary global Capitalist economy, capital has increasingly taken the form of intellectual property (IP). IP is the term for intangible ideas that are legally privatized as property und…